ประวัติวันดินโลก มีความเป็นมาอย่างไร
เมื่อปี พ.ศ. 2556 ระหว่างการประชุมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจและการเงินของที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสมัชชาที่ 68 ณ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ประชุมมีมติผลักดันการตั้ง "วันดินโลก" (ภาษาอังกฤษ : World Soil Day) โดยกำหนดให้ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี
ต่อมาวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ และคณะ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัล The Humanitarian Soil Scientist หรือรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีโครงการในพระราชดำริมากมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ดินเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน เช่น โครงการหญ้าแฝก โครงการแกล้งดิน โครงการแก้ดินเปรี้ยว เป็นต้น
รัชกาลที่ 9 ถือว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว โดยองค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ใช้วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันดินโลกครั้งแรกใน พ.ศ. 2557 นอกจากวันดินโลกจะเป็นวันที่รณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญกับทรัพยากรดินแล้ว ยังถือเป็นวันพ่อแห่งชาติของประเทศไทยด้วย
ความสำคัญของ “ดิน” กำเนิดวันดินโลก (World Soil Day)
ดิน ถือเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศ แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ดินได้รับผลกระทบจากปัญหาสภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก เมื่อดินเกิดความเสื่อมโทรมก็ส่งผลต่อคุณภาพด้านเกษตรกรรมและด้านโภชนาการ
การก่อตั้งวันดินโลกจึงถือเป็นการรณรงค์ให้ทุกฝ่ายหันมาใส่ใจพัฒนาทรัพยากรดินให้มีความยั่งยืนอย่างจริงจัง เพราะดินสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรโลก นำไปสู่การแก้ปัญหาความยากจนและลดปัญหาการขาดแคลนอาหารได้